1. การเปลี่ยนแปลงระบบการเรียนรู้ครั้งใหญ่
การเรียนรู้แบบออนไลน์ได้กลายมาเป็นปรากฏการณ์ระดับโลกเมื่อการระบาดของ coronavirus สร้างความเงียบเหงาให้กับโรงเรียน แม้โรงเรียนจะกลับมาเปิดใหม่ แต่การเรียนรู้ออนไลน์ก็ยังได้รับความนิยมมากขึ้นและเห็นภาพชัดมากกว่าเดิมว่าเป็นวิธีที่ช่วยประหยัดต้นทุนในการสร้างกระบวนการเรียนรู้สำหรับผู้คนทุกวัย
ทีมตลาดหุ้น A-share ของ Eastspring ประจำสำนักงานเซี่ยงไฮ้ เชื่อว่าขนาดของการเรียนรู้ออนไลน์ในประเทศจีนนั้นไม่มีใครเทียบได้ ด้วยจำนวนประชากร ระดับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและระดับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเรียนรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศจีน ตลาดการศึกษาออนไลน์ในวัยผู้ใหญ่มีการขยายตัวมาตั้งแต่ปี 2013 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงราวครึ่งหนึ่งของตลาดการศึกษาออนไลน์ของจีนในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การเติบโตที่แท้จริงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเกิดขึ้นจากตลาดโรงเรียนกวดวิชา (After-School Tutoring | AST) สำหรับการศึกษาในระดับ K-12 (ชั้นอนุบาลจนถึงเกรด 12) โดยตลาด K-12 AST ของจีนนี้ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่ 85% เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 30.2 พันล้านหยวน ตั้งแต่ปี 2013 จนถึงปี 2018
โอกาสการเติบโตของตลาดการเรียนรู้ออนไลน์ของจีนนั้นยังมีอยู่มาก แม้ว่าการสมัครเข้าเรียนที่คาดว่าจะมีจำนวนนักเรียน 65 ล้านคนในปี 2020 แต่ก็ถือว่าระดับการเข้าถึงตลาด AST ในจีนนั้นยังคงต่ำ (28%) เมื่อเทียบกับ +70% ในไต้หวัน / ญี่ปุ่น / เกาหลีและ +85% ในฮ่องกง จากข้อมูลของ Frost & Sullivan ระบุว่าขนาดตลาด (วัดจากมูลค่าการเรียกเก็บเงินเบื้องต้นหรือ gross billing) ของการศึกษาออนไลน์ในจีนคาดว่าจะสูงถึง 696 พันล้านหยวนในปี 2023 เพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าจาก 294 พันล้านหยวนในปี 2020 (ค่าประมาณการ) ดังแสดงในรูปที่ 1 การเติบโตนี้คาดว่าจะได้รับแรงหนุนจากการสมัครเข้าเรียน AST (โรงเรียนกวดวิชา) แบบออนไลน์ เนื่องจากระบบ 5G และการพัฒนาเทคโนโลยีช่วยลดต้นทุน Bandwidth และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของการศึกษาออนไลน์
Frost & Sullivan คาดการณ์ว่าการสมัครเข้าเรียน K-12 AST แบบออนไลน์ของจีนนั้นจะมีการเติบโต (CAGR) ที่ 65% เทียบจากปี 2018 ขึ้นมาอยู่ที่ 367 พันล้านหยวนในปี 2023 (ค่าประมาณการ) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึงครึ่งหนึ่งของตลาดการศึกษาออนไลน์ของจีน
ข้อมูลของ Bloomberg ระบุว่ามีดีลการเสนอขายหุ้น IPO ทั่วโลกถึงเกือบ 100 บริษัทในช่วงปี 2010-2019 โดยจีนและฮ่องกงครองส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดในช่วงสามปีที่ผ่านมา การตระหนักเรื่องสุขภาพมากขึ้นอันเกิดจากการระบาดของ coronavirus อาจเพิ่มระดับการเข้าถึงระบบการเรียนรู้แบบออนไลน์ โดยเฉพาะในประเทศที่มีจำนวนประชากรมากและมีการกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ ด้วยสภาพการณ์เช่นนี้จึงอาจสร้างโอกาสการลงทุนได้มากขึ้นในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาออนไลน์ของเอเชีย
2.ปลดล็อกระบบคลาวด์ (ของเอเชีย)
COVID-19 ยังได้เร่งการปรับเปลี่ยนมาใช้การประมวลผลบนระบบคลาวด์ (Cloud computing) เมื่อบริษัทหันมาให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นขององค์กร ระบบการทำงานที่มีความซ้ำซ้อน และการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ในช่วงการระบาดของ coronavirus นั้นการประมวลผลบนระบบคลาวด์ได้ช่วยเรื่องการทำงานแบบระยะไกลสำหรับองค์กรต่างๆ ทั่วโลก โดยทีมงานที่อยู่กันคนละสถานที่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มการทำงานแบบรวม ซึ่งนอกเหนือจากการมีประสิทธิภาพด้านต้นทุนด้วยการไม่ต้องซื้อหรือบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานด้านการประมวลผลแล้ว การประมวลผลแบบคลาวด์นี้ยังได้ให้ความรวดเร็วในการเชื่อมต่อมากขึ้นรวมถึงการปรับใช้และอัปเกรดซอฟต์แวร์ตลอดจนแอปพลิเคชันต่างๆ
รายได้จากการให้บริการระบบคลาวด์ทั่วโลกคาดว่าจะสูงถึง 266.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 15% ในช่วงสองปีข้างหน้า ดังแสดงในรูปที่ 2 ข้อมูลจาก International Data Corporation ระบุว่าในปัจจุบันเม็ดเงินในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับ Cloud Computing นั้นมีสัดส่วนที่สูงกว่าหนึ่งในสามของการใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีทั่วโลก
ตลาดบริการโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบคลาวด์ของจีนนั้นมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา โดยมีส่วนแบ่งการตลาด 10.8%1 ตลาดจีนมีผู้เล่นรายใหญ่เป็นบริษัทในประเทศอย่าง Alibaba, Tencent และ Baidu ซึ่งเป็นสามอันดับแรกในตลาด ความสำเร็จในการเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐของ Kingsoft Cloud เมื่อเดือนพฤษภาคม สามารถระดมทุนได้มากกว่า 510 ล้านดอลลาร์สหรัฐแม้ในช่วงที่มีการระบาดของไวรัส เป็นสิ่งที่ยืนยันมุมมองของผู้ลงทุนที่มีต่อโอกาสในการเติบโตอย่างมากในตลาดคลาวด์ของจีน
ข้อมูลจากทีมตลาดหุ้น A-Share ของ Eastspring ในเซี่ยงไฮ้ ระบุว่าบริษัทคลาวด์ของจีนจำนวนมากได้นำเสนอบริการอย่างเช่น วิดีโอแชทและออดิโอแชทให้แก่ลูกค้าแบบไม่มีค่าใช้จ่ายในช่วงที่มีการระบาด เพื่อช่วยให้ทั้งผู้ใช้รายใหม่และรายเดิมสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง บริษัทเหล่านี้ยังได้เปิดให้เข้าถึงบริการโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับสถาบันวิจัยต่างๆ เพื่อเร่งการค้นคว้าเรื่องตัวยาในการนำไปผลิตวัคซีนที่ได้ผล ทีมงานคาดว่าตลาดคลาวด์ของจีนนั้นจะเติบโตหลังสิ้นสุดการระบาดครั้งใหญ่เนื่องจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปและการที่บริษัทต่างๆ ได้ประเมินแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจและมองหาทางเปลี่ยนแอปพลิเคชันมาสู่ระบบคลาวด์มากยิ่งขึ้น
มีคาดการณ์ว่าประเทศจีนจะมีขนาดของตลาดคลาวด์คอมพิวติ้งในสัดส่วนราวหนึ่งในสามของตลาดภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในปี 2023 ขณะอินเดียและญี่ปุ่นคาดว่าจะมีขนาดตลาดเท่ากับอีกหนึ่งในสาม ตลาดรายใหญ่ที่สุดถัดลงมาในภูมิภาคก็คือเกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ฮ่องกง และสิงคโปร์ โดยข้อมูล ณ ขณะนี้พบว่า Amazon ยังคงเป็นผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่ที่สุด2 ในเอเชียแปซิฟิก ตามมาด้วย Alibaba ที่เป็นอันดับสอง และ Microsoft ในอันดับสาม
การเป็นผู้นำระดับโลกในตลาดคลาวด์นั้นต้องการความสามารถในการให้บริการที่เข้าถึงได้ทั่วโลก ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ชื่อเสียงของแบรนด์อันเป็นที่รู้จัก สถานะการเงินที่ยอดเยี่ยม และการมุ่งเน้นไปในระยะยาว ผู้เล่นของจีนในตลาดคลาวด์ซึ่งมีกลยุทธ์เชิงรุกในช่วงที่ผ่านมาดูเหมือนว่าจะสอบผ่านในหัวข้อส่วนใหญ่เหล่านี้
3. Data center…เติบโตก้าวกระโดด
ความนิยมที่มากขึ้นในการใช้บริการระบบคลาวด์ ระบบ 5G และเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) ได้สร้างความต้องการศูนย์ข้อมูลหรือดาต้าเซ็นเตอร์มากขึ้น ศูนย์ข้อมูลนั้นเป็นองค์ประกอบหลักของการดำเนินธุรกิจ ซึ่งประกอบด้วยคลังสินค้าส่วนกลาง (แบบกายภาพหรือแบบเสมือน) ที่ใช้สำหรับการจัดเก็บข้อมูลระยะไกลและการประมวลผลข้อมูล ศูนย์ข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่ใช้ในการรองรับการทำงานแบบระยะไกล เรื่องการศึกษา และทีวีสตรีมมิ่ง
สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางดั้งเดิมสำหรับผู้เล่นในตลาดคลาวด์แบบสาธารณะ (public cloud) ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการที่มีบริการคลาวด์แบบใหม่ๆ หรือการเป็นประเทศที่ก่อกำเนิดมาจากความเป็นรัฐชาติ (nation state) การเกิดขึ้นของบริการ Amazon Web Services (AWS), Google Cloud Platform (GCP), Facebook และ Alibaba Cloud และการขยายโครงสร้างพื้นฐานของศูนย์ข้อมูลในประเทศ ทำให้สิงคโปร์เป็นตลาดศูนย์ข้อมูลที่มีการพัฒนาและเติบโตมาได้อย่างยาวนานแห่งหนึ่งของโลก แต่อีกนัยหนึ่ง การขาดแคลนที่ดินและข้อจำกัดในเรื่องการแบ่งเขตหรือโซนนิ่ง นับเป็นความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นกับสิงคโปร์สำหรับการแข่งขันด้านศูนย์ข้อมูลนี้
บรรดาผู้เล่นในตลาดคลาวด์รายใหญ่ที่สุดได้เริ่มปรับใช้หรือประกาศแผนเปิดตัว cloud region (พื้นที่ให้บริการคลาวด์ที่มีการจัดตั้งดาต้าเซ็นเตอร์) ในพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยอินโดนีเซียถือเป็นหนึ่งในทำเลที่น่าจับตามากที่สุด AWS เตรียมเปิดตัว cloud region ที่อินโดนีเซียในปี 2021 หรือต้นปี 2022 ในขณะที่ GCP นั้นคาดว่าจะเปิดตัวคลาวด์ที่กรุงจาการ์ตาในปี 2021 ด้าน Alibaba Cloud ได้เปิดตัวศูนย์ข้อมูลแห่งที่สองในอินโดนีเซียเมื่อต้นปีนี้ หรือ 10 เดือนหลังจากการเปิดตัวศูนย์ข้อมูลแห่งแรกในประเทศเพื่อไม่ให้เป็นการล้าหลัง
ข้อมูลของ Ari Pitoyo ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของ Eastspring ในอินโดนีเซีย ประเมินว่า ประเทศอินโดนีเซียมีแนวโน้มที่ปริมาณการใช้ข้อมูลเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าในช่วงห้าปีที่ผ่านมา โดยได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มนับตั้งแต่ผู้ค้ารายย่อยในตลาดอีคอมเมิร์ซ ผู้ให้บริการเรียกรถรับส่ง ตลอดจนตัวแทนธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์หรือ Online Travel Agencies (OTAs) แนวโน้มการแปลงเป็นดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นในแนวดิ่งซึ่งมีความหลากหลาย อย่างเช่นการชำระเงินผ่านมือถือ ดิจิทัลแบงกิ้ง และ Software as a Service (SaaS) ยังอาจมีส่วนในการเพิ่มปริมาณการใช้ข้อมูล ในขณะเดียวกัน Ari ก็ชี้ให้เห็นว่าธุรกิจแบบดั้งเดิมในอินโดนีเซียกำลังดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลและสร้างข้อมูลเพิ่มมากขึ้นด้วย ด้าน Boston Consulting Group คาดการณ์ว่าระบบคลาวด์แบบสาธารณะจะช่วยหนุน GDP ของอินโดนีเซียเป็นมูลค่ารวมสะสมถึง 36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงปี 2019 - 2023 และสร้างงานอีก 3.45 แสนตำแหน่ง
นอกจากอินโดนีเซียแล้ว ยังคาดว่าจะมีการขยายธุรกิจศูนย์ข้อมูลในมาเลเซียด้วยเช่นกัน โดย Alibaba Cloud นั้นได้เปิดดำเนินการในมาเลเซียที่กัวลาลัมเปอร์มาตั้งแต่ปี 2017 และ Microsoft คาดว่าจะเปิดตัว Azure Cloud ในมาเลเซียในปี 2021
ตลาด Data center ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์นั้น มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก และคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าในอีกสี่ปีนับจากนี้ ซึ่งอาจขึ้นแซงหน้ายุโรปในฐานะตลาดศูนย์ข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดในโลกภายในปี 2021 ดังแสดงในรูปที่ 3 โดยปัจจัยหลักๆ อย่างโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีที่แข็งแกร่ง แหล่งจ่ายไฟสำรองที่มีประสิทธิภาพ และการเชื่อมต่อผ่านโครงข่ายไฟเบอร์ที่แข็งแกร่ง มีส่วนช่วยผลักดันการเติบโตของตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน ซึ่งในกรณีของสิงคโปร์ การมีแรงงานที่มีทักษะและอัตราภาษีที่ต่ำก็สามารถช่วยได้เช่นกัน
ศูนย์ข้อมูลกำลังถูกโยกย้ายออกไปยังภูมิภาคให้อยู่ใกล้กับลูกค้าและธุรกิจของตนมากขึ้น เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและลดความล่าช้า นอกจากนี้ การที่กฎเกณฑ์เรื่องการคุ้มครองข้อมูลที่เข้มข้นมากขึ้น โดยข้อมูลบางประเภทต้องถูกจัดเก็บไว้อยู่ภายในประเทศ จึงมีความจำเป็นต้องตั้งศูนย์ข้อมูลให้อยู่ในประเทศนั้นๆ ยกตัวอย่างหน่วยงานของรัฐบาลมาเลเซียและองค์กรธุรกิจที่มีข้อกำหนดต้องจัดเก็บข้อมูลทั้งหมดไว้ในมาเลเซีย เช่นเดียวกับหน่วยงานด้านการกำกับดูแลของอินโดนีเซียที่ต้องการให้ข้อมูลทางการเงินที่เป็นของชาวอินโดนีเซียจะต้องถูกจัดเก็บไว้อยู่ภายในประเทศด้วยเหตุผลด้านความเป็นส่วนตัว
ศูนย์ข้อมูลต้องพึ่งพาการใช้พลังงานเป็นจำนวนมาก สร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์สูง รวมทั้งเกิดต้นทุนไฟฟ้าที่สูงอย่างมีนัยยะ ซึ่งการที่จะเพิ่มความสามารถทางแข่งขัน ศูนย์ข้อมูลในเอเชียจะต้องปรับเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและพลังงานหมุนเวียนในขณะที่เริ่มมีความสนใจมากขึ้นต่อแหล่งผลิตพลังงานที่ใช้หล่อเลี้ยงการทำงานของศูนย์ข้อมูล มีแนวโน้มว่าในอนาคตผู้ประกอบการศูนย์ข้อมูลจะต้องพิจารณาวัสดุก่อสร้างที่ปล่อยความร้อนต่ำ ปั๊มความร้อน ตลอดจนกลไกการทำความเย็นแบบระเหยอื่นๆ ด้วย3
4. หุ่นยนต์ในที่ทำงาน
ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์คาดว่าจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของ ห่วงโซ่อุปทานหรือซัพพลายเชนทั่วโลกในยุคหลังวิกฤต COVID-19 บริษัทต่างๆ ได้ย้ายไปใช้ระบบซัพพลายเชนแบบคู่ขนาน – หรือการใช้ซัพพลายเออร์สองรายสำหรับผลิตภัณฑ์หรือส่วนประกอบที่กำหนด ซึ่งสต็อกทุน (รวมถึงหุ่นยนต์) ควรเพิ่มขึ้นในปริมาณที่เท่าๆ กับผลผลิต ในปัจจุบันฐานการผลิตที่ติดตั้งหุ่นยนต์อุตสาหกรรมอยู่ในเอเชียถึง 86%4 จากฐานการผลิตรูปแบบเดียวกันที่มีอยู่ทั่วโลก การโยกย้ายฐานการผลิตกลับประเทศของตนนั้นหมายความว่าสหรัฐและยุโรปจะเริ่มซื้อหุ่นยนต์มากขึ้นในขณะที่มีการขยายฐานการผลิต การที่ค่าแรงและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นในประเทศเหล่านี้ บริษัทต่างๆ จึงมีแนวโน้มที่จะมองหาระบบอัตโนมัติเพื่อลดต้นทุน
การสั่งงานและการติดตั้งหุ่นยนต์จะทำได้ง่ายขึ้นเนื่องจากเครื่องมือประเภท machine learning ทำให้หุ่นยนต์ฉลาดขึ้น การวิจัยและพัฒนายังมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาระบบการทำงานร่วมระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ไปสู่ระดับที่สูงขึ้นซึ่งทำให้หุ่นยนต์สามารถตอบสนองต่อเสียงและท่าทาง รวมทั้งเรียนรู้และตอบสนองต่อถึงการแสดงออกผ่านการเคลื่อนไหวของมนุษย์ ในขณะเดียวกัน สถาบันหลายๆ แห่ง5 กำลังพัฒนาอินเตอร์เฟสที่เป็นมาตรฐาน พัฒนาการนี้จะช่วยให้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมสามารถเชื่อมต่อกับ Internet of Things ของภาคอุตสาหกรรม และสามารถสื่อสารกันเองได้โดยไม่จำเป็นว่าต้องมาจากผู้ผลิตรายเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีโอกาสทำให้การเช่าซื้อหุ่นยนต์เป็นโซลูชั่นที่เป็นไปได้สำหรับองค์กรขนาดเล็กและขนาดกลาง6
รายงานของ BofA Global Research ระบุว่าซัพพลายเชนที่มุ่งกลับสู่ตะวันตกเกิดขึ้นในเวลาเดียวกับที่ขนาดของประชากรวัยทำงานในประเทศเหล่านี้ลดลง ดังนั้น ทางเลือกจึงมีจำกัดยกเว้นจะหันไปพึ่งพาระบบอัตโนมัติ มีบริษัทจดทะเบียนหลายรายในญี่ปุ่นที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงในการผลิตหุ่นยนต์ประเภทต่างๆ ทำให้ผู้ผลิตหุ่นยนต์ญี่ปุ่นเหล่านี้อยู่ในสถานะที่ได้เปรียบในการรองรับสิ่งที่เป็นแนวโน้มของโลกนี้ ดูรูปที่ 4
ในปัจจุบันผู้ผลิตหุ่นยนต์ของญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในตลาดนี้ ซึ่งทีมการลงทุนของ Eastspring ประจำสำนักงานเซี่ยงไฮ้ ได้เน้นในข้อมูลที่ว่าจีนกำลังก้าวขึ้นบนห่วงโซ่คุณค่าในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ได้อย่างรวดเร็ว ด้วยความก้าวหน้าทั้งในด้านการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการปรับใช้ ขณะนี้บรรดาซิสเต็มอินทิเกรเตอร์ของจีนต่างเดินหน้าในเรื่องการออกแบบชิป ซอฟต์แวร์ และปัญญาประดิษฐ์ไปสู่การใช้งานจริง ขณะที่ผู้ใช้งานซึ่งโดยทั่วไปก็คือผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรม สามารถใช้ประโยชน์จากประสิทธิภาพที่สูงขึ้นได้อย่างเต็มที่ และได้รับผลดีจากระบบที่มีความมั่นคงมากขึ้น มีโครงสร้างต้นทุนที่ปรับปรุงดีขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นจากระบบอัตโนมัติของหุ่นยนต์
5. จุดพลุสนามแข่งขัน 5G และอื่นๆ
เครือข่ายมือถือในยุคที่ห้าคาดว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากกว่าสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา การมีความเร็วสูง ความล่าช้าต่ำ และการเชื่อมต่อแบบไฮเปอร์คอนเน็คทิวิตี้ ทำให้เทคโนโลยี 5G พร้อมที่จะปฏิวัติวิธีที่เราทำงาน วิธีการใช้ชีวิต และสร้างความบันเทิง มีคาดการณ์ว่าเทคโนโลยี 5G จะมีส่วนช่วยเพิ่มผลผลิตทั่วโลกในมูลค่าสูงกว่า 13 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2035 หรือคิดเป็นสัดส่วน 5% ของผลผลิตที่แท้จริงทั่วโลกและสร้างงาน 22.3 ล้านตำแหน่ง7
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่สหรัฐอเมริกาและจีนกำลังแข่งขันกันเพื่อขึ้นสู่การเป็นผู้นำในการพัฒนา 5G ทีมการลงทุนของ Eastspring ในเซี่ยงไฮ้เชื่อว่าการใช้จ่ายสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน 5G ในจีนจะสร้างศักยภาพในการเติบโตได้อีกมากสำหรับทั้งผู้ผลิตอุปกรณ์ในประเทศและซัพพลายเออร์ที่เป็นบริษัทจีน ซึ่งสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือการมองเห็นดีมานด์ภายในประเทศที่แข็งแกร่งสำหรับ Printed Circuit Boards (PCBs) และชิ้นส่วนของ Radio Frequency (RF)
ในขณะเดียวกัน การตัดสินใจครั้งล่าสุดของสหรัฐที่กีดกันไม่ให้ Huawei ของจีนและบริษัทในเครือ ซื้อชิปเซมิคอนดักเตอร์ที่ผลิตหรือออกแบบด้วยเครื่องมือ/อุปกรณ์ของสหรัฐ เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของชิปเซมิคอนดักเตอร์ในการแข่งขันบนเวทีนี้ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วไม่เพียงแต่สำหรับ 5G เท่านั้น แต่เซมิคอนดักเตอร์ยังเป็นตัวขับเคลื่อนและได้รับประโยชน์จากแนวโน้มเทคโนโลยีสำคัญอื่นๆ ที่เราได้เน้นในบทความนี้
ตัวอย่างเช่นการทำงานจากระยะไกล การใช้อีคอมเมิร์ซและการบริโภคภายในครัวเรือน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดคุณสมบัติที่สอดรับกันในด้านการประมวลผลและแบนด์วิดธ์ที่สูงขึ้น อันจะส่งผลดีต่อผู้ให้บริการเซมิคอนดักเตอร์ที่เน้นพลังการประมวลผล
การทำงานจากที่บ้านทำให้เห็นความจำเป็นของการมีองค์กรที่ยืดหยุ่นและเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบที่ดีกว่า การคัดกรองที่รวดเร็วยิ่งขึ้น และการเฝ้าติดตามผู้คนนั้น มีแนวโน้มที่จะเพิ่มการลงทุนในปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้ในการดูแลสุขภาพและความเป็นเมืองอัจฉริยะ นอกจากนี้ ในขณะที่เกมออนไลน์กำลังเติบโตก็จำเป็นต้องมีองค์ประกอบของเกมที่ดีกว่าเดิม ส่วนเรื่องของความตึงเครียดทางการค้าที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องกำลังผลักดันให้จีนและสหรัฐอเมริกาก้าวไปสู่เส้นทางการพึ่งพาตนเองและจัดการลอกเลียนด้านซัพพลายมากยิ่งขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้จึงได้สร้างความต้องการชิปเซมิคอนดักเตอร์แบบเฉพาะมากยิ่งขึ้น
ความสามารถของชิปเซมิคอนดักเตอร์นั้นขึ้นอยู่กับขนาดของทรานซิสเตอร์ – หรือวงจรคอมพิวเตอร์ที่ช่วยในการคำนวณ กฎของมัวร์ได้ให้ข้อสังเกตว่าจำนวนทรานซิสเตอร์ในไมโครชิป จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในทุกๆ 2 ปีเนื่องจากขนาดที่เล็กลงซึ่งเป็นไปตามเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น ชิปที่ทันสมัยนั้นจะมีทรานซิสเตอร์ที่เล็กมากๆ แต่ด้วยความซับซ้อนและต้นทุนในการผลิตชิปเหล่านี้บอกเป็นนัยว่ามีเพียงไม่กี่บริษัทที่จะสามารถดำเนินการผลิตได้หรือใกล้เคียงเพื่อให้มีคุณสมบัติที่ล้ำยุค วันนี้มีเพียง 2 บริษัทในโลกที่สามารถผลิตชิป 5 นาโนเมตร (nm) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในระดับแถวหน้า - นั่นคือ Taiwan Semiconductor Manufacturing (TSMC) และ Samsung Electronics (SEC) ขณะบริษัทสหรัฐอย่าง Intel นั้นก็มีเป้าหมายที่จะเข้าสู่ตลาด 5 นาโนเมตรภายในปี 20238 โดยในปัจจุบันไต้หวันและเกาหลีใต้ครองสัดส่วนตลาดที่สูงสำหรับการผลิตชิปล้ำสมัย (<16 nm) ในตลาดโลก ดังแสดงในรูปที่ 5
Greg Kang หัวหน้าฝ่ายวิจัยตลาดทุนของ Eastspring ประจำสำนักงานเกาหลีระบุว่าผู้ผลิตชิปชั้นนำอย่างเช่น SEC และ TSMC กำลังใช้เทคโนโลยีการพิมพ์แนวราบที่ล้ำสมัยแบบ Extreme Ultraviolet (EUV) ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถสร้างชิปที่มีขนาดเล็กลง เร็วยิ่งขึ้น และมีต้นทุนที่ต่ำลง ข้อมูลของ Greg ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า SEC และ TSMC กำลังวางแผนที่จะเริ่มต้นผลิตชิปในจำนวนมากโดยใช้อุปกรณ์ EUV ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2020 หรือต้นปี 2021 นั่นเท่ากับเป็นการเร่งให้ผู้บริโภคสามารถรับรู้ได้ถึงศักยภาพอันแท้จริงของ 5G
Kevin Liu หัวหน้าฝ่ายการลงทุนในประเทศของ Eastspring ในไต้หวัน เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในซัพพลายเชนทั่วโลกน่าจะเป็นประโยชน์ต่อซัพพลายเชนของเซมิคอนดักเตอร์ในไต้หวัน ผู้ผลิตของไต้หวันหลายราย นำโดย TSMC นั้นกำลังขยายช่องว่างด้านเทคโนโลยีให้กว้างขึ้นเพื่อผลิตชิป 3 นาโนเมตร นอกจากนี้ ผู้ออกแบบวงจรรวม (Integrated Circuit) ชั้นนำของไต้หวันที่ใช้ในสมาร์ทโฟน การจัดการพลังงาน และ Wi-Fi ยังดำเนินการที่สอดคล้องกับนโยบายที่เน้นให้สอดรับกับตลาดในประเทศของรัฐบาลจีน หากมองไปข้างหน้าถ้าสหรัฐสั่งห้ามการส่งออกวัตถุดิบด้านเทคโนโลยีที่สำคัญไปยังประเทศจีนแล้วส่งผลให้เกิดการแบ่งแยกเทคโนโลยีออกเป็นสองฝั่งระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่ง Kevin เชื่อว่าบรรดาซัพพลายเออร์ในตลาดชิปของไต้หวันจะยังคงอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ TSMC ได้บรรลุข้อตกลงที่จะสร้างโรงงานผลิตชิป 5 นาโนเมตร มูลค่า 12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในสหรัฐอเมริกา
ไม่อาจมองข้ามความได้เปรียบของเอเชีย
แม้ในขณะที่ประเทศต่างๆ ได้ผ่อนคลายข้อจำกัดในการล็อกดาวน์ แต่ก็มีแนวโน้มว่าพฤติกรรมของผู้คนนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี การปรับเปลี่ยนมาสู่ระบบคลาวด์ การแปลงสู่ระบบดิจิตัล และระบบอัตโนมัติ ได้นำมาสู่โอกาสของการมีประสิทธิภาพการผลิตที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ผู้ลงทุนจะสามารถสัมผัสกับแนวโน้มทางเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ในทศวรรษหน้า สภาวะการแข่งขันและกฎระเบียบทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปได้บ่งชี้เป็นนัยว่าผู้ลงทุนจะต้องดำเนินการค้นหาโอกาสที่อยู่ภายในกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งพวกเขาแทบจะไม่สามารถมองข้ามเอเชียไปได้ ด้วยความได้เปรียบและศักยภาพในการเติบโตของภูมิภาคสำหรับการประยุกต์ใช้งานเหล่านี้ในหลายๆ ด้าน
บทความนี้เป็นบทความที่สอง จากทั้งหมดหกบทความใน Asian Expert Series ของเราซึ่งได้ทำการสำรวจแนวโน้มในอนาคตของเอเชียในยุคหลังวิกฤติ COVID