จากคำกล่าวที่ว่า “cash is king” แต่รัฐบาลและธนาคารกลางของหลายๆ ประเทศเริ่มที่จะนึกถึงสังคมที่ปราศจากเงินสดอย่างสิ้นเชิง ผลสำรวจล่าสุดของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศหรือ Bank of International Settlements (BIS) พบว่า 80% ของธนาคารกลางจำนวน 66 แห่งทั่วโลกต่างกำลังศึกษาและดำเนินการในเรื่องสกุลเงินดิจิทัล1
การระบาดของ COVID-19 ได้ช่วยกระตุ้นให้ธนาคารกลางต้องคิดทบทวนเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลเนื่องจากเงินสดถูกมองว่าเป็นช่องทางหนึ่งที่มีโอกาสทำให้ไวรัสแพร่กระจายออกไป นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดใหญ่อาจทำให้ระบบการชำระเงินในปัจจุบันหยุดชะงัก ทำให้ต้องมีแผนสำรองด้านดิจิทัล
ในเดือนตุลาคมปี 2020 มีธนาคารกลาง 7 แห่งซึ่งรวมถึงธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve) และ BIS ได้เผยแพร่รายงานที่ระบุถึงหลักการสำหรับใช้เป็นแนวทางการออกสกุลเงินดิจิทัลโดยธนาคารกลาง2 นอกจากนี้ ยังมีบริษัทเทคโนโลยีอย่างเช่น Facebook ที่ได้ทดลองโปรเจกต์สกุลเงินดิจิทัลอีกด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่าอาจไม่มีโครงการสกุลเงินดิจิทัลของประเทศไหนที่ได้รับความสนใจมากเกินไปกว่าประเทศจีน การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์โดยสกุลเงินดิจิทัล (DC/EP) เพิ่งได้รับการทดสอบในศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีของเซินเจิ้น โดยมีผู้อยู่อาศัย 50,000 คนที่ได้รับ "ซองแดง" (ซองอั่งเปา) แบบดิจิทัลมูลค่าประมาณ 200 หยวน (30 ดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งสามารถดาวน์โหลดไปยังแอปและใช้จับจ่ายได้ที่ร้านค้ามากกว่า 3,000 แห่ง3
โปรเจกต์สกุลเงินดิจิทัลของจีนนั้นอาจเรียกได้ว่ามีความก้าวหน้ามากที่สุดในโลกแล้ว แม้ว่าธนาคารกลางของจีนหรือ People’s Bank of China (PBoC) จะยังไม่ระบุแน่ชัดว่าจะเปิดให้บริการแก่ประชาชนได้เมื่อไหร่
สกุลเงินดิจิทัลคืออะไร?
DC/EP มีความแตกต่างอย่างมีนัยยะจากเงินคริปโตหรือ cryptocurrency ซึ่งตามคำจำกัดความถือเป็นเงินที่ไม่ได้ถูกควบคุมโดยหน่วยงานกลางใดๆ นอกจากนี้ DC/EP ยังมีสิ่งที่แตกต่างจากเงินคริปโตก็คือการเป็นวิธีที่สะดวกในการเก็บรักษามูลค่าแทนที่จะเป็นสิ่งที่ผู้ลงทุนพยายามคิดจะหาเงินจากมัน
ในความเป็นจริง DC/EP เป็นเพียงเงินหยวนที่จีนใช้อยู่ในปัจจุบันแต่อยู่ในรูปดิจิทัล เงินถูกนำออกมาใช้โดยมีธนาคารกลางหนุนหลังในเรื่องมูลค่า และเมื่อ DC/EP มีความพร้อม ผู้ใช้ก็จะสามารถดาวน์โหลดกระเป๋าเงินดิจิทัล (digital wallets) ที่ใช้เก็บเงินและใช้สร้าง QR Code ที่ผู้ขายสามารถสแกนเรียกเก็บเงินได้4
สกุลเงินรูปแบบใหม่จะทำงานในลักษณะเดียวกันกับ Alipay และ WeChatPay ซึ่งเป็นโซลูชั่นด้านการชำระเงินดิจิทัลชั้นนำในประเทศจีน โดยข้อได้เปรียบสำหรับผู้บริโภคหลักๆ ก็คือความสะดวกสบาย การลดต้นทุนในการทำธุรกรรม และความสามารถในการทำธุรกรรมแม้ไม่มีเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ
DC/EP ยังเอื้อให้เกิดการจัดทำแบบจำลองทางสถิติและข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ธนาคารพาณิชย์คาดว่าจะมีบทบาทในการกระจายสกุลเงินดิจิทัลออกสู่ผู้ใช้ ซึ่งนอกจากธนาคารกลางแล้วธนาคารพาณิชย์ก็จะเก็บฐานข้อมูลเพื่อติดตามเงินหยวนดิจิทัลที่เปลี่ยนมือระหว่างผู้ใช้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมากหากเป็นเงินสด วิธีนี้คาดว่าจะช่วยจัดการเรื่องการฟอกเงินและการจัดหาเงินทุนเพื่อก่อการร้าย และยังช่วยลดปัญหาข้อมูลที่ไม่ได้ระบุที่มาซึ่งเป็นกรณีของการใช้เงินสด ประเด็นดังกล่าวธนาคารกลางจีนระบุว่าจะพยายามสร้างสมดุลระหว่างการคุ้มครองที่จะไม่เปิดเผยตัวตนผู้ใช้ และการตรวจจับการกระทำที่ผิดกฎหมาย
ความมุ่งมั่นยกระดับเงินหยวนสู่การเป็นสกุลเงินระหว่างประเทศ
ความต้องการของจีนในการทำให้เงินหยวนกลายเป็นสกุลเงินระหว่างประเทศนั้นไม่ใช่สิ่งที่เป็นความลับ แต่โครงการ DC/EP ได้ถูกผลักดันให้เกิดเร็วขึ้นในช่วงที่สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีนรุนแรงขึ้น
DC/EP นั้นเดิมถูกตั้งเป้าว่าจะใช้สำหรับการชำระเงินภายในจีนเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามก็มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจีนมีการพัฒนาระบบการชำระเงินระหว่างธนาคารข้ามพรมแดนหรือ Cross-Border Interbank Payment System (CIPS) ซึ่งช่วยให้การทำธุรกรรมในรูปสกุลเงินหยวนสามารถใช้ชำระเงินระหว่างประเทศได้โดยไม่ต้องผ่านระบบ SWIFT ที่เป็นของชาติตะวันตก
ในปี 2019 ธุรกรรมที่ดำเนินการผ่าน CIPS นั้นอยู่ที่ 135.7 พันล้านหยวนต่อวัน (20.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งมาจากสถาบันการเงิน 980 แห่งใน 96 ประเทศ ตัวเลขดังกล่าวยังดูน้อยเมื่อเทียบกับ SWIFT ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกรรมเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD ) ด้วยมูลค่าธุรกรรมอยู่ที่ราว 5-6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน5 ดังแสดงในรูปที่ 1
เมื่อสหรัฐใช้ SWIFT เพื่อดำเนินมาตรการคว่ำบาตร แต่ CIPS อาจเข้ามาเป็นทางเลือกให้แก่รัฐบาลจีนในระยะยาว
นอกจากนี้ ประเทศกำลังพัฒนาขนาดเล็กที่มีความเชื่อมโยงทางการค้าและการเงินกับจีนอย่างแข็งแกร่งอาจเริ่มออกใบแจ้งหนี้และชำระธุรกรรมโดยตรงในรูปสกุลเงินหยวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศคู่ค้าพันธมิตรที่มีความเกี่ยวข้องกับโครงการ Belt and Road ของจีน ปัจจุบันเขตการค้าเสรีทั่วประเทศจีนกำลังหาทางเลือกต่างๆ ในเรื่องแหล่งเงินทุนข้ามพรมแดน และในอนาคตเขตการค้าเสรีเหล่านี้อาจเป็นตัวขับเคลื่อนการใช้เงินหยวนดิจิทัลในระดับนานาชาติ
การจับจ่ายของบรรดานักท่องเที่ยวชาวจีนและนักเดินทางในต่างประเทศอาจช่วยเร่งให้เกิดการใช้และการหมุนเวียนของเงินหยวนดิจิทัลนอกประเทศจีนได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยผลักดันการจัดตั้งระบบที่เกี่ยวข้องและกลไกการทำงานร่วมในต่างประเทศ
สิ่งที่ผู้ลงทุนกังวล
มีข้อกังวลบางประการเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลในทางปฏิบัติ ตัวอย่างเช่นในสวีเดนมีการคัดค้านอย่างหนักจากเหล่าผู้สูงอายุและกลุ่มคนพิการที่เดือดร้อนจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไปสู่การทำธุรกรรมแบบไม่ใช้เงินสด โดยสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือรัฐบาลสวีเดนถึงกับยอมถอยหลังและกำหนดให้ธนาคารคงระดับเงินสดขั้นต่ำไว้รองรับความต้องการ6
กำจัดตัวกลางในภาคการเงิน
แต่ความกังวลที่สำคัญนั้นไปไกลเกินกว่าเรื่องเส้นทางของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการชำระเงินจากรูปแบบหนึ่งไปเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งความกังวลที่มากกว่าอาจเป็นสิ่งที่ผู้วิจารณ์เรียกว่า ‘disintermediation’ (การกำจัดตัวกลาง) นั่นคือความเป็นไปได้ที่ธนาคารพาณิชย์จะถูกตัดออกจากการมีบทบาทในแบบที่เคยเป็นมาในอดีต
ในปัจจุบัน ธนาคารกลางหลายแห่งได้ดำเนินการใช้สกุลเงินดิจิทัลแล้ว แต่ใช้อยู่ในกลุ่มธนาคารเท่านั้นหรือที่เรียกว่า wholesale level ซึ่งลูกค้าของธนาคารกลางก็คือธนาคารอื่นๆ แทนที่จะเป็นลูกค้าหลายล้านรายทั้งที่เป็นบุคคลและภาคธุรกิจ
สำหรับลูกค้าบางราย DC/EP ที่อิงกับระบบของธนาคารกลางจีนอาจถูกมองว่าเป็นทางเลือกที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าเมื่อเทียบกับเงินฝากธนาคาร ซึ่งหากลูกค้าของธนาคารเหล่านี้สามารถได้รับเงินดิจิทัลได้โดยตรงจากธนาคารกลาง พวกเขาก็อาจมีแนวโน้มที่จะฝากเงินไว้ในธนาคารพาณิชย์น้อยลง และในกรณีที่ไม่มีเงินฝาก ธนาคารพาณิชย์อาจมีเงินเหลือในมือที่จะไปปล่อยกู้ให้กับลูกค้ารายอื่นน้อยลง ต้นทุนในการระดมเงินอาจเพิ่มขึ้นหากต้องแข่งขันเพื่อแย่งชิงเงินฝากกับธนาคารอื่นหรือแสวงหาแหล่งเงินทุนอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีความกังวลว่าในช่วงวิกฤตภาคธนาคาร สกุลเงินดิจิทัลที่มีลักษณะยืดหยุ่นของอาจส่งผลให้ธนาคารดิจิทัลล้มได้ในทันทีและมีผลกระทบอย่างมหาศาล7
ตัวอย่างในจัดการกับประเด็นความกังวลนี้คือธนาคารกลางยุโรป ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้มีคำแนะนำให้จำกัดส่วนที่คล้ายเงินสดของสิ่งที่อาจเป็นสกุลเงินดิจิทัลไว้ที่ 3,000 ยูโรต่อคน ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของระดับเงินฝากในยุโรป
สำหรับแนวทางของจีนในการจัดการกับปัญหานี้ก็คือการเจาะจงรวมธนาคารพาณิชย์ไว้ในขั้นตอนการกระจายสกุลเงินดิจิทัล นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มว่าจะจำกัดขนาดในการแลกเปลี่ยนเงิน เช่นเดียวกับการคง DC/EP ที่ไม่มีดอกเบี้ยเพื่อลดความน่าดึงดูดเมื่อเทียบกับเงินฝากธนาคาร แม้ประชาชนจะได้รับการสนับสนุนให้ถือบัญชี DC/EP แต่จำนวนเงินหมุนเวียนก็เป็นไปได้ว่าจะถูกจัดการดูแลด้วยความระมัดระวังและคาดว่าผลกระทบต่อระบบธนาคารแบบดั้งเดิมนั้นจะลดลง อย่างน้อยก็ในระยะสั้น
การแข่งขันของระบบการชำระเงิน
จีนมีระบบการชำระเงินแบบดิจิทัลที่ได้รับการพัฒนามาอย่างยาวนานระบบหนึ่งของโลก ซึ่งเมื่อ DC/EP ได้เข้ามาสู่ตลาดที่มีการแข่งขันสูง จึงเกิดความกังวลว่า DC/EP จะอยู่ร่วมกับผู้เล่นในตลาดที่แข็งแกร่งในปัจจุบันได้อย่างไร
ข้อมูลล่าสุดจากธนาคารกลางจีนแสดงให้เห็นว่าในปี 2019 ธนาคารต่างๆ ได้จัดการธุรกรรมการชำระเงินดิจิทัลบนมือถือในมูลค่า 49.27 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสัดส่วนประมาณสี่ในห้าของการชำระเงินในประเทศจีนนั้นทำผ่าน WeChat Pay ของ Tencent หรือ Alipay ของ Alibaba8 และถ้าเปรียบเทียบกับยุโรปพบว่าธุรกรรมราว 76% ยังคงอยู่ในรูปเงินสด ซึ่งมีมูลค่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าการชำระเงินรวมในทุกรูปแบบ9 รูปที่ 2 แสดงให้เห็นว่าในปัจจุบันแพลตฟอร์มดิจิทัลส่วนใหญ่ใช้ Alipay หรือ WeChat Pay เป็นพันธมิตรด้านการชำระเงิน ขณะที่บางแพลตฟอร์มได้พัฒนาระบบที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง
ความน่าสนใจของระบบการชำระเงินเหล่านี้ไม่ได้อยู่แค่เรื่องการชำระเงินเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึง ecosystem ของแต่ละระบบด้วย ซึ่งมีการนำเสนอบริการที่หลากหลายนับตั้งแต่การสั่งอาหารไปจนถึงการซื้อของในร้านขายปลีกขนาดเล็ก และวงเงินเครดิต
หาก DC/EP มีความสามารถในการทำงานร่วมกันในแต่ละแพลตฟอร์มการชำระเงินที่มีความแตกต่าง นั่นอาจช่วยให้ผู้บริโภคชาวจีนได้รับความสะดวกสบายมากขึ้นและผลักดันให้เกิดการยอมรับ ซึ่งในปัจจุบันเงินในกระเป๋าเงินดิจิทัลหรือ digital wallet บนแพลตฟอร์มการชำระเงิน (เช่น Alipay) ไม่ได้ถูกยอมรับจากแพลตฟอร์มที่เป็นคู่แข่ง
เงินหยวนที่เหมาะกับยุคดิจิทัล
แม้ว่าเทคโนโลยีสำหรับเงินดิจิทัลนั้นจะเกิดขึ้นมาได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่ธนาคารกลางจีนก็มีแนวโน้มว่าจะใช้แนวทางแบบรอบคอบเพื่อไม่ให้สร้างความเสียหายต่อระบบการเงินในวงกว้าง
ผลกระทบต่อธนาคารและระบบการชำระเงินแบบบุคคลที่สามจะขึ้นอยู่กับอัตราการใช้งาน DC/EP และรูปแบบการดำเนินงานระหว่าง DC/EP กับผู้เล่นในตลาดเหล่านี้ ในขณะที่ธนาคารของจีนอาจเผชิญกับการแข่งขันด้านเงินฝากอยู่บ้าง แต่นั่นก็อาจทำให้เกิดโอกาสใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่นธนาคารสามารถรับค่าธรรมเนียมการดูแลจากลูกค้าในส่วนของกระเป๋าเงินดิจิทัล ในขณะเดียวกันระบบการชำระเงินแบบบุคคลที่สามต้องช่วยทำให้ประสบการณ์ของลูกค้าดีขึ้นในเรื่องกระเป๋าเงินดิจิทัล เพื่อเพิ่มความอยากใช้แพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ อาจมีโอกาสเพิ่มเติมเข้ามาสำหรับวิธีการชำระเงินแบบอื่นๆ ในประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกแห่งนี้ โดยปัจจุบันจีนมีประชากรอีกจำนวนราว 400 ถึง 500 ล้านคนที่ไม่มีบัญชี Alipay และอีก 200 ล้านคนที่ไม่มีบัญชีธนาคาร10
แม้ว่า DC/EP ของจีนจะยังอยู่ในขั้นนำร่องสำหรับการใช้ภายในประเทศ แต่ในที่สุดแล้วระบบนี้ก็จะสามารถลดอุปสรรคในการใช้เงินหยวนสำหรับการชำระเงินข้ามพรมแดนได้ และหากนำไปใช้ได้สำเร็จ DC/EP น่าจะช่วยยกระดับบทบาทของเงินหยวนในเวทีนานาชาติได้ในระยะยาว และมุ่งเข้าใกล้เป้าหมายได้อีกขั้นหนึ่งในการให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินระหว่างประเทศ โดย ณ ขณะนี้โลกกำลังจับจ้องการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2022 ที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งคาดว่าจะเป็นโอกาสให้จีนได้อวดโฉมสกุลเงินดิจิทัลของตนให้ปรากฏสู่สายตาผู้คนทั่วโลก